วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประวัติวัด อาษาสงคราม

ประวัติวัดอาษาสงคราม  (เรียบเรียงโดย พระเทพกิตติเมธี เจ้าอาวาสวัดอาษาสงคราม รูปที่8)


ชื่อเดิมวัดอาษาสงคราม
      วัดอาษาสงคราม ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในปัจจุบัน เดิมชื่อว่า "เภี่ยเกริงสละ" เป็นภาษารามัญ แปลว่า วัดคลองจาก ตำบล บ้านเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดอาษาสงคราม มีเนื้อที่ 16 ไร่ 6 ตารางวา
ประวัติความเป็นมาของวัด
      วัดอาษาสงคราม ได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2363 โดย สมิงอาษาสงคราม ปรากฎในแผนที่ดินจังหวัด และได้ตั้งชื่อวัดตามราชทินนามของท่านว่า วัดอาษาสงคราม
       ตระกูลที่บำรุงวัดในสมัยก่อนๆนั้น มี 3 ตระกูล คือ
  1. ตระกูล มิมะพันธุ์ ต้นตระกูลคือ สมิงอาษาสงคราม
  2. ตระกูล ณ เชียงใหม่ ต้นตระกูลคือ ขุนทำนุ ณ เชียงใหม่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นตระกูล ปัจจุสมัย
  3. ตระกูล ศรีเพริศ ต้นตระกูลคือ สมิงรามศรี
       ท่านขุนประมวลรัตน์ (แจ้ง ประมวลรัตน์) มีอาชีพเป็นทนายความ เล่าให้ฟังว่ามีนายทหารรามัญท่านหนึ่ง ชื่อว่านายทัพ เป็นผู้มีความสามารถ เป็นนักรบแนวหน้า ได้รบกับทหารพม่าที่เมืองหงสาวดี ในที่สุดเกิดพ่ายแพ้แก่ทหารพม่า ท่านพร้อมด้วยครอบครัวและทหารผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นจำนวนมาก จึงได้หนีเข้ามาในประเทศไทยทางอำเภอแม่สาย เข้ามาปักหลักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลานานพอสมควร
        ต่อมา มีชาวต่างชาติเข้ามารุกรานดินแดนไทยทางภาคเหนือ เมื่อข่าวนี้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 พระองค์ทรงทราบว่า นายทหารที่อพยพมาจากประเทศหงสาวดี มีความเข็มแข็งจัดเจนในการทำศึกสงคราม จึงรับสั่งให้ทหารที่มาจากสงหาวดี ซึ่งมีนายทัพเป็นหัวหน้า ให้เกณฑ์ทหารรามัญทั้งหมดออกไปปราบปรามผู้รุกรานประเทศไทยทางภาคเหนือให้ราบคาบ ในที่สุดผู้รุกรานได้พ่ายแพ้อย่างราบคาบไป
        เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 ได้ทราบว่าควมพ่ายแพ้ได้เกิดขึ้นแก่ฝ่ายรุกรานจนหมดสิ้นราบคาบ บ้านเมืองมีความอยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้า จึงรับสั่งให้นายทหารทางกรุงเทพไปเชิญแม่ทัพนายกอง พร้อมทั้งทหารที่ไปปราบปรามผู้รุกรานประเทศไทยทางภาคเหนือทุกคนให้ลงมาอยู่ที่กรุงเทพ พระองค์ให้จัดสถานที่อยู่อาศัย สถานที่ประกอบอาชีพแก่ทหารเหล่านั้น และได้พระราชทานยศให้แม่ทัพ เป็นสมิงอาษาสงคราม พร้อมทรงมอบที่ดินแปลงหนึ่ง จำนวนหลายสิบไร่ ในเขตจังหวัดนครเขื่อนขันธ์ ตำบลที่ทรงพระราชทานที่ดินนั้น ทรงใช้ชื่อว่า ตำบลบ้านเชียงใหม่ หรือตำบลเชียงใหม่ ดังปรากฎจนถึงปัจจุบันนี้ 
เปลี่ยนชื่อจังหวัดนครเขื่อนขันธ์ - อำเภอพระประแดง  
         ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น ประชาชนมากขึ้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นคือ จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ เปลี่ยนเป็น จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองนครเขื่อนขันธ์ เปลี่ยนเป็น อำเภอพระประแดง ทิศตะวันออก ติดเขตบางนา ทิศใต้ ติดจังหวัดสมุทรปราการ ทิศตะวันตก ติดเขตราษฎบูรณะ ทิศเหนือ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เขตยานนาวา
         ตำบล บ้านเชียงใหม่ หรือตำบลเชียงใหม่ เปลี่ยนเป็น ตำบลตลาด
         ตำบล บ้านเชียงใหม่ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหมูบ้านเชียงใหม่
         เมื่อได้รับพระราชทานที่ดินผืนนี้แล้ว  สมิงอาษาสงครามได้แบ่งเป็นสามส่วน คือ 
         ส่วนที่ 1 สร้างวัด
         ส่วนที่ 2 สร้างที่อยู่อาศัยของท่านและบริวาร
         ส่วนที่ 3 เป็นที่ประกอบอาชีพ มีการทำไร่ ทำนา ทำสวน และทำธุรกิจอื่นๆโดยไม่ต้องเสียภาษี
                     อากรใดๆ ทั้งสิ้น
ลำดับเจ้าอาวาสวัดอาษาสงคราม
         วัดอาษาสงคราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยมีเจ้าอาวาสครองวัดมาแล้วทั้งหมด 8 รูป ดังมีรายนามดังนี้
  1. พระมหาขัน บาลีรามัญ ลาสิกขา
  2. พระอธิการกินรี เป็นหมอยาโบราณ มรณภาพ
  3. พระมหาทอง บาลีรามัญ ลาสิกขา
  4. พระอธิการต้าน เป็นธรรมกถึกภาษารามัญ ลาสิกขา
  5. พระอธิการอัย เกจิอาจารย์ดัง มรณะภาพ
  6. พระครูอาทรธรรมกิจ (พร้อม อุชุโก ป.ธ.4) เป็นผู้ริเริมการเรียนการสอนภาษาบาลี ครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2484 - 2507 มรณะภาพ
  7. พระครูสังฆวุฒาจารย์ (เย่อ โฆสโก) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2508 และได้มรณภาพในปี พ.ศ. 2524 (เจ้าพระคุณสมเด็จอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ทรงมีเมตตาแต่งตั้งให้หลวงปู่เย่อ โฆสโก ดำรงต่ำแหน่งฐานานุกรมของพระองค์ ที่ พระครูสังฆวิจารณ์
  8. พระเทพกิตติเมธี (โนรี ธีโร ป.ธ.5) ครองวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน
          

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เขี้ยว งา กะลา เขา

เขี้ยว งา กะลา เขา
     เป็นคำพูดที่พูดกันมานมนาน ซึ่งหมายถึง วัตถุที่นำมาสร้างเครื่องรางของขลัง นั่นเอง เครื่องรางที่ สร้างจากเขี้ยวสัตว์ นั้น ส่วนใหญ่จะเน้ น เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และ เขี้ยวหมูป่า เป็นหลัก ที่สร้างจาก งา คงเป็นแค่ งาช้าง เท่านั้น ส่วนเครื่องรางของขลังที่ทำจาก กะลามะพร้าว ส่วนใหญ่จะใช้ กะลามะพร้าวที่มีตาเดียว แต่ถ้าเจอกะลามะพร้าวที่มีห้าตา สิบตา ก็ยิ่งดี ถือว่าเป็นของหายาก สำหรับ เขาสัตว์ จะเน้นไปทาง เขาวัวกระทิง เขาควาย และ เขากวาง เป็นหลัก วัตถุที่นำมาสร้างเครื่องรางของขลังเหล่านี้ เชื่อกันว่า มีความขลังในตัวอยู่แล้ว ยิ่งนำมาทำพิธีปลุกเสกด้วย ยิ่งเพิ่มความขลังเป็นทวีคูณขึ้นหลายเท่า วันนี้ผู้เขียนขอเขียนเรื่อง เขี้ยว สักเรื่องหนึ่งก่อน โอกาสหน้าค่อยเขียนถึงเรื่อง งา กะลา เขา ให้ละเอียดอีกครั้ง

เขี้ยว นับว่าเป็นเครื่องรางของขลัง ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ชนิดหนึ่ง เกจิอาจารย์บางท่านนำเขี้ยวมา แกะสร้างเครื่องรางของขลัง จนได้รับความนิยม ให้นั่งอยู่แถวหน้า ประเภทเครื่องรางยอดนิยม เช่น เสือของหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน หรือ เสือ อาจารย์เฮง วัดเขาดิน เป็นต้น
เขี้ยวสัตว์ที่นิยมนำมาสร้างเครื่องรางของขลัง มีอยู่ ๓ ชนิด คือ เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมูป่า ซึ่งมีผู้ซักถามและถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ คือ เขี้ยวสัตว์แต่ละชนิด มีความแตกต่างกันอย่างไร
วันนี้เรามาทำความเข้าใจกัน ผู้เขียนเองยอมรับว่าไม่ได้เก่งกาจ อะไรมากเรื่องเครื่องรางของขลัง แต่เป็นผู้ชื่นชอบวัตถุมงคลประเภทเครื่องรางเอามากๆ คนหนึ่งเลยทีเดียว ชอบค้นคว้า ค้นตำราต่างๆ ถามผู้รู้ ผู้ชำนาญ เคยซื้อผิด ซื้อถูก ทุกอย่างผู้เขียนถือว่าเป็นครูเท่านั้น เมื่อได้ความรู้อะไรมา ที่เห็นว่าสำคัญและถูกต้องก็จะถ่ายทอดกันต่อๆ ไป จะได้ไม่สูญหายไปจากวงการ
เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และ เขี้ยวหมูป่า ถ้าเป็นอาจารย์เดียวกันสร้าง เขี้ยวเสือจะได้รับ ความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่ง รองมาก็คือ เขี้ยวหมี และ เขี้ยวหมู เป็นอันดับท้าย ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะความเชื่อว่า เสือเป็นสัตว์มหาอำนาจ เป็นเจ้าป่า หายาก และฆ่าก็ยาก หมียังพอเห็นมากกว่า ส่วนหมูป่านั้นมีจำนวนมากมาย แต่ถ้าเป็นหมูป่าเขี้ยวตัน หรือเขี้ยวยาวใหญ่ ก็ถือว่าหาชมได้ยากเช่นกัน ดังคำโบราณที่กล่าวว่า ถ้าจะเล่นเขี้ยวหมูต้องเล่นเขี้ยวตัน จะเล่นเขี้ยวเสือต้องเล่นเขี้ยวโปร่ง (โปร่งฟ้า)
ก่อนจะแยกแต่ละประเภทของเขี้ยวนั้น อยากพูดถึงลักษณะของการนำเขี้ยวมาแกะ ว่ามีลักษณะใดบ้าง คือมีทั้งที่แกะเต็มเขี้ยว ครึ่งเขี้ยว หรือ นำเอาเขี้ยวมาผ่าเป็นซีก แกะเป็นชิ้นเล็กๆ ก็มี
เต็มเขี้ยว หมายถึง เขี้ยวที่ถูกถอดรากออกจากเหงือกทั้งอัน ซึ่งยังมีปลายเขี้ยวแหลม ยาวอยู่ เช่น เสือ หลวงพ่อนก วัดสังกะสี
ครึ่งเขี้ยว หมายถึง เขี้ยวที่ถูกถอดรากออกจากเหงือกทั้งอัน แล้วนำมาตัดแบ่งครึ่ง ส่วนใหญ่นิยมเอาครึ่งแถบที่เป็นรากเขี้ยวมาแกะ เช่น เสือ หลวงพ่อปาน คลองด่าน ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป
เขี้ยวซีก หมายถึง การเอาเขี้ยวเต็มมาผ่าแบ่งเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาแกะเป็นวัตถุมงคลอีกทีหนึ่ง เช่น เสือเขี้ยวซีก หลวงพ่อปาน คลองด่าน หรือ เสือ อาจารย์เฮง วัดเขาดิน
การแกะวัตถุมงคลจากเขี้ยวซีกชิ้นเล็กๆ นั้น บางท่านอาจเข้าใจผิดว่าแกะมาจากปลายเขี้ยว ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก เพราะปลายเขี้ยวมีลักษณะ แข็ง และ กรอบ ถ้าโดนแกะก็จะปริแตกไม่เป็นรูปทรง
ความจริงแล้ว เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมูป่า มีลักษณะที่แยกออกจากกันได้ชัดเจน ผู้เขียนจะอธิบายไปทีละขั้น จะได้เข้าใจง่าย ไม่สับสน โดยดู รูปภาพประกอบ จะเห็นได้ชัดเจน
เขี้ยวเสือ มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ขึ้นอยู่กับชนิด และขนาดของตัวเสือ เขี้ยวจะยาว เรียว ปลายแหลมคม โค้งพอประมาณ ดูจากปลายเขี้ยวจะเห็นเหลี่ยม เป็นร่องเล็กๆ อยู่สี่มุม วิ่งเป็นแนวร่องเข้ามายังตัวเขี้ยวชัดเจน เราเรียกกันว่า ร่องเส้นเลือด และถ้านำเขี้ยวเสือมาตัดแบ่งครึ่ง เราจะเห็นรูตรงกลาง เป็นรูกลวงโปร่ง ไปสุดโคนเขี้ยว ซึ่งจะมีลักษณะกลม หรือกลมรีเล็กน้อย กว้างประมาณ ๒๐-๓๐ % ของพื้นที่หน้าเขี้ยวที่เราตัดครึ่ง และจะมีคลื่นรัศมีวิ่งรอบปากรูเขี้ยว ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน
เขี้ยวหมี มีขนาดเล็กและใหญ่เช่นกัน เขี้ยวหมีเมื่อดูภายนอกลักษณะทั่วไปคล้ายเขี้ยวเสือมาก คือมีความเรียว โค้งยาว ปลายแหลมคม สิ่งที่แตกต่างจากเขี้ยวเสือนั้น คือปลายเขี้ยวหมี ก็มีร่องเลือดเหมือนกัน แต่เป็นแบบ เส้นเลือดสีน้ำตาลแดงวิ่งรอบเป็นวงเดือน จากปลายเขี้ยวเข้ามาด้านใน เป็นสิบๆ รอบ ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าได้ชัดเจน และเมื่อเรานำเขี้ยวมาตัดผ่าแบ่งครึ่ง จะพบรูกลวงโปร่งเช่นเดียวกับเขี้ยวเสือ แต่ รูของเขี้ยวหมีจะกว้างกว่ารูของเขี้ยวเสือ มาก บางเขี้ยวเจอรูกว้าง ๗๐-๘๐% ของหน้าเขี้ยวเลยทีเดียว
เขี้ยวหมูป่า มีลักษณะแตกต่างจากเขี้ยวเสือและเขี้ยวหมี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนมาก คือ เขี้ยวหมูป่า มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ มีลักษณะแบน เป็นเหลี่ยม โค้ง ยาว ปลายแหลม รูกลวง บางเขี้ยวยาวมากๆ จนเกือบจะเป็นครึ่งวงกลมเลยก็มี ส่วนใหญ่จะเป็นเขี้ยวกลวงเกือบทั้งนั้น จะหาเขี้ยวแบบตันยากมาก

สรุปได้ว่า เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี และเขี้ยวหมูป่า มีลักษณะที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาแล้วก็สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน
ถ้าท่านผู้อ่านมีโอกาสได้เครื่องรางของขลังประเภทเขี้ยวเหล่านี้ ก็ควรใช้ดุลพินิจพิจารณา ข้อมูลของผู้เขียนอาจจะช่วยท่านได้บ้างไม่มากก็น้อย
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อาจารย์เย่อ วัดอาษาสงคราม

อาจารย์เย่อ 



ปฐมวัย
      หลวงปู่ มีนามเดิมว่า "ไพทูรย์ (เย่อ)" นามสกุล "กงเพ็ชร์" ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2431 ตรงกับวันแรม 3 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด ที่บ้านทมัง ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัด สมุทรปราการ มีญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกันทั้งสิ้น 4 คน คือ
1. นางหนู
2. นายบ๊ะ
3. หลวงปู่เย่อ (อาจารย์เย่อ)
4. นายเว่
     เนื่องจากบิดามารดาเป็นชาวรามัญที่เคร่งครัดต่อประเพณีนิยมและมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา เมื่ออยู่ในวัยเยาว์ บิดาจึงพาไปทำบุญที่วัดด้วยเสมอ  ทำให้เลื่อมใสต่อบวรพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม  พ.ศ.2444 ท่านมีอายุได้  13 ปี  บิดามารดาจึงได้พาท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรน้อยที่วัดอาษาสงคราม โดยมีท่านมหาขันธ์เป็นอาจารย์ให้ศีลและอนุสัยบวชให้ หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยทั้งไทยและรามัญจนมีความชำนาญ โดยเฉพาะอักขระขอมรามัญ จึงทำให้ท่านสามารถค้นคว้าตำราและพระคัมภีร์ต่างๆของรามัญได้อย่างกว้างขวาง เกิดความรอบรู้ทั้งทางปริยัติธรรมและวิชาแขนงต่างๆ ทางพุทธศาสนาตลอดจนวิชาการแพทย์ตามแบบโบราณสมัยไว้ช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านอีกด้วย
      ครั้งเป็นสามเณรน้อยท่านดำรงตนเคร่งครัดอยู่ในศีล มีจริยาวัดงดงาม ผองใสด้วยธรรมของพระพุทธองค์ จึงเป็นที่ปิติของบิดามารดาและญาติพี่น้อง ตลอดจนครูบาอาจารย์และชาวบ้านที่พบเห็นต่างก็ชื่นชมด้วยทั่วกัน นอกจากนั้นท่านเองก็มึความแจ่มใสอยู่ในเพศบรรพชิต จึงตั้งจิตมั่นคงที่จะรับใช้พุทธศาสนาอยู่จนชีวิตหาไม่
อุปสมบท
       เมื่อท่านย่างเข้าครบ 20 ปี จึงเป็นที่น่ายินดีปรีดาของโยมบิดา มารดาและญาติพี่น้องจะได้ทำการอุปสมบทสามเณรน้อยให้เป็นภิกษุผู้สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป พร้อมใจกันจัดแจงเตรียมพิธีการต่างๆ ให้สมกับศรัทธาที่มุ่งมั้น สมัยนั้นวัดอาษาสงครามยังไม่มีพระอุโบสถและพันธเสมาก็ได้พากันไปใช้พระอุโบสถของ วัดพญาปราบปัจจามิตร ซึ่งอยู่ติดกัน แล้วนิมนต์ให้พระอธิการทองวัดโมกข์เป็นอุปัชฌาย์ พระอธิการเกลี้ยง วัดพญาปราบปัจจามิตรเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมวิสารธะวัดโมกข์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ กำหนดวันอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2451  พระอุปชฌาย์ตั้งฉายาให้ว่า "โฆสโก" แปลได้ว่า "ผู้มีความกึกก้องกังวาน" หมายถึงมีธรรมอันกว้างใหญ่ไพศาลถ้วนทั่วนั้นเอง
        หลังอุปสมบทแล้ว ท่านก็ยิ่งเพิ่มทวีศึกษาทางพระพุทธศาสนาทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระมีความรู้แตกฉานจนจบโดยเฉพาะบาลีแบบรามัญ ท่านมีความสามารถมาก แต่ยังไม่ทันได้สอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีบัญชาให้เลิกการสอบแบบปากเปล่า และทรงยกเลิกการสอบแบบปากเปล่าทั้งทางบาลีไทยด้วย ให้สอบโดยการขีดเขียนแทน แบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้
แสวงหาอาจารย์
        ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า สิ่งที่จะทำให้ล่วงพ้นความทุกข์ไปได้นั้นก็คือ การมุ่งศึกษาทางปฎิบัติธรรมกัมมัฎฐาน ท่านจึงมุ่งกลับไปศึกษาทางวิปัสสนากรรมฐานโดยการค้นคว้าด้วยตนเองจากตำราภาษารามัญจนมีความเข้าใจเป็นอย่างดี  จึงแสวงหาอาจารย์ผู้ทรงคุณในทางปฎิบัติ ท่านจึงเดินทางไปศึกษากับ "หลวงพ่อหลิม" วัดทุ่งบางมด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดทุ่งโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีความสามารถทางวิปัสสนาสูงและเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางพุทธเวทย์วิทยาคม อันมีชื่อเสียงเกรียงไกรในยุคนั้นจนกล่าวเป็นคำพูดว่า " หลวงพ่อหลิม วัดทุ่ง หลวงพ่อรุ่ง วัดท่าควาย" หลวงพ่อรุ่งนั้นหมายถึง หลวงพ่อรุ่งวัดกระบือ เกจิอาจารย์ที่โด่งดังในยุคเดียวกัน
         หลวงพ่อหลิมนั้นท่านสร้างเครื่องรางของขลังแจกจ่ายประชาชนของของท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ใช้ได้ผล ทางเมตตามหานิยมนับว่ายอดเยี่ยมมาก เป็นต้นว่า นางกวัก ของท่านปัจจุบันมีค่าหาได้ยาก
         โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "รัก-ยม" ของหลวงพ่อหลิมนั้น ไม่มีอาจารย์ผู้ใดทำได้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนของท่าน หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาวิปัสสนากับหลวงพ่อหลิมจนหลวงพ่อหลิมออกปากชมว่า หลวงปู่เย่อมีความพากเพียรพยามดีมาก แม้จะมีอุปสรรคกีดขวางอย่างไร ก็พยายามฟันฝ่าเดินทางไปศึกษาโดยมิยอมลดละ ซึ่งในสมัยนั้นถนนหนทางก็มิใช่จะสะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ การเดินทางจากพระประแดงไปวัดทุ่ง บางมดจะต้องใช้เรือแจวไปกว่าจะถึงก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมงทีเดียว
         เมื่อสำเร็จทางวิปัสสนาจนมีความเชี่ยวชาญชำนาญดีแล้ว หลวงพ่อหลิมซึ่งมีความเมตตาหลวงปู่เย่อมาก จึงได้ให้เรียนวิชาทางพุทธเวทย์วิทยาคมต่อ หลวงปู่ก็พยายามศึกษาเวทมนตร์คาถาที่หลวงพ่อหลิมประสิทธิ์ประสาทให้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาจริง เอาจัง จนเกิดความชำนาญสามารถทำเครื่องรางของขลังที่ได้เรียนมาใช้ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ
         หลังจากนั้นท่านก็ยังไม่ได้หยุดที่จะศึกษาหาความรู้ ท่านถือคติที่ว่าการศึกษาไม่มีการจบสิ้น ยิ่งรู้มากก็จะทำให้มีหูตากว้างไกล ชีวิตคือการศึกษาผู้รู้มากย่อมฉลาดมากกว่า เมื่อเรียนวิชาจากหลวงพ่อหลิมจบสิ้นแล้ว ท่านจึงไปขอศึกษาวิชาจากอาจารย์ "กินรี" วัดบ้านเชียงใหม่ และ อาจารย์ "พันธ์" วัดสะกา อาจารย์สองท่านนี้ เป็นเถราจารย์ชาวรามัญที่มีความแก่กล้าทางคาถาอาคมไสยเวทย์มาก สามารถเสกสิ่งของให้มีชีวิตให้เห็นได้กับตาเช่นเดียวกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า วิชาทางไสยเวทย์อาคมนั้นถ้าจะกล่าวแล้วของรามัญมีมาแต่โบราณ มีชื่อเสียงมาก จะเห็นได้ว่าในประวัติศาสตร์ ท่านมหาเถรคันฉ่องอาจารย์ผู้ขมังเวทย์ชาวรามัญ ได้ใช้ความเชี่ยวชาญทางวิปัสสนาญาณและคาถาอาคม แสดงให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและทหารหาญได้ทอดพระเนตรเป็นประจักษ์แก่สายตา เมื่อครั้งการรณยุทธ์ที่แม่น้ำสะโตง ภายหลังท่านมหาเถรคันฉ่องได้รับเกรียรติคุณเป็นถึง "สมเด็จพระพนรัต" วัดป่าแก้ว สังฆราชฝ่ายอรัญวาสี แห่งกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นแบบฉบับแห่งคัมภีร์ทางพุทธเวทย์วิทยาคมสืบต่อมาแต่ครั้งกระโน้น
          อาจารย์พันธุ์ วัดสะกา ท่านมีชื่อเสียงทางสีผึ้งเมตตามหานิยมที่ทำจากน้ำมันช้างพลายตกมัน คือเอาน้ำมันตรงซอกหูช้างที่ไหลขณะตกมัน มาเคี่ยวกับสีผึ้งใต้ร้านบวบด้วยพระเวทย์ สีผึ้งนัน้ใช้ทางเมตตามหานิยมเป็นเยี่ยม
          สำหรับอาจารย์กินรีนั้นท่านชำนาญทั้งทางอยู่คงและเมตตา ทางอยู่คงท่านสร้างผ้าประเจียดสีแดงสวมต้นแขน เล่ากันว่าคงกระพันชาตรีชนิดแมลงวันไม่ได้กลิ่นคาวเลือดทีเดียว นอกจากนั้นท่านยังสร้างพระไว้ด้วยกันสามชนิดคือ แบบสมาธิผงดำพิมพ์ครอบแก้ว ขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย ด้านหลังเรียบ เนื้อพระเป็นผงสีดำละเอียดและดูนุ่มลึก อีกแบบหนึ่งเป็นแบบพิมพ์สามเหลี่ยมมุมมนทั้งสามด้าน องค์พระปางสมาธิ ด้านหลังอูมคลายเบี้ย พุทธลักษณะปางสมาธิ เนื้อผงสีดำอมแดงเล็กน้อย พระเครื่องทั้งสองแบบของท่านนี้ มีพุทธคุณทางคงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยมมาก ส่วนแบบที่สามเป็นพระเครื่องพิมพ์ปิดตา ทรงป้อมด้านหลังอูมคล้ายหลังเบี้ยเนื้อผงสีดำ ขนาดเล็กเท่าปลายนิ้วก้อยมีพุทธคุณหนักแน่นทางเมตตามหานิยมและโชคลาภ ชาวพระประแดงรุ่นเก่าทีมีหวงแหนกันมาก เพราะประสบการณ์เป็นเยี่ยม โดยเฉพาะโดดเด่นทางเมตตาอย่างลึกล้ำ
          หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาสืบต่อวิชาจากท่านอาจารย์ทั้งสองนี้ไว้จนเจนจบสิ้น นับว่าท่านมีความเพียรสูง เพราะการศึกษามิใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องใช้พลังจิตตั้งใจมากจึงจะสำเร็จ จากนั้นมาท่านก็เฝ้าเพียรฝึกฝนวิปัสสนาอยู่เอย่างสม่ำเสมอ ค้นคว้าตำรับตำราของรามัญเก่าๆ ที่มีอย่างเงียบๆ เพียงลำพังมิได้แสดงตนให้ผู้ใดทราบ เพราะหลวงปู่เป็นผู้มีความมักน้อย ถ่อมตนอยู่เป็นนิสัย การเจรจาก็สงบเสงี่ยมอยู่ในศีลแห่งสมณะ สมเป็นพุทธบุตรโดยแท้

ข้อมูลจาก หนังสือ หลวงปู่เย่อ โฆสโก  โดยคุณสมชาย ปรางค์นวรัตน์