วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประวัติวัด อาษาสงคราม

ประวัติวัดอาษาสงคราม  (เรียบเรียงโดย พระเทพกิตติเมธี เจ้าอาวาสวัดอาษาสงคราม รูปที่8)


ชื่อเดิมวัดอาษาสงคราม
      วัดอาษาสงคราม ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในปัจจุบัน เดิมชื่อว่า "เภี่ยเกริงสละ" เป็นภาษารามัญ แปลว่า วัดคลองจาก ตำบล บ้านเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดอาษาสงคราม มีเนื้อที่ 16 ไร่ 6 ตารางวา
ประวัติความเป็นมาของวัด
      วัดอาษาสงคราม ได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2363 โดย สมิงอาษาสงคราม ปรากฎในแผนที่ดินจังหวัด และได้ตั้งชื่อวัดตามราชทินนามของท่านว่า วัดอาษาสงคราม
       ตระกูลที่บำรุงวัดในสมัยก่อนๆนั้น มี 3 ตระกูล คือ
  1. ตระกูล มิมะพันธุ์ ต้นตระกูลคือ สมิงอาษาสงคราม
  2. ตระกูล ณ เชียงใหม่ ต้นตระกูลคือ ขุนทำนุ ณ เชียงใหม่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นตระกูล ปัจจุสมัย
  3. ตระกูล ศรีเพริศ ต้นตระกูลคือ สมิงรามศรี
       ท่านขุนประมวลรัตน์ (แจ้ง ประมวลรัตน์) มีอาชีพเป็นทนายความ เล่าให้ฟังว่ามีนายทหารรามัญท่านหนึ่ง ชื่อว่านายทัพ เป็นผู้มีความสามารถ เป็นนักรบแนวหน้า ได้รบกับทหารพม่าที่เมืองหงสาวดี ในที่สุดเกิดพ่ายแพ้แก่ทหารพม่า ท่านพร้อมด้วยครอบครัวและทหารผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นจำนวนมาก จึงได้หนีเข้ามาในประเทศไทยทางอำเภอแม่สาย เข้ามาปักหลักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลานานพอสมควร
        ต่อมา มีชาวต่างชาติเข้ามารุกรานดินแดนไทยทางภาคเหนือ เมื่อข่าวนี้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 พระองค์ทรงทราบว่า นายทหารที่อพยพมาจากประเทศหงสาวดี มีความเข็มแข็งจัดเจนในการทำศึกสงคราม จึงรับสั่งให้ทหารที่มาจากสงหาวดี ซึ่งมีนายทัพเป็นหัวหน้า ให้เกณฑ์ทหารรามัญทั้งหมดออกไปปราบปรามผู้รุกรานประเทศไทยทางภาคเหนือให้ราบคาบ ในที่สุดผู้รุกรานได้พ่ายแพ้อย่างราบคาบไป
        เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 ได้ทราบว่าควมพ่ายแพ้ได้เกิดขึ้นแก่ฝ่ายรุกรานจนหมดสิ้นราบคาบ บ้านเมืองมีความอยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้า จึงรับสั่งให้นายทหารทางกรุงเทพไปเชิญแม่ทัพนายกอง พร้อมทั้งทหารที่ไปปราบปรามผู้รุกรานประเทศไทยทางภาคเหนือทุกคนให้ลงมาอยู่ที่กรุงเทพ พระองค์ให้จัดสถานที่อยู่อาศัย สถานที่ประกอบอาชีพแก่ทหารเหล่านั้น และได้พระราชทานยศให้แม่ทัพ เป็นสมิงอาษาสงคราม พร้อมทรงมอบที่ดินแปลงหนึ่ง จำนวนหลายสิบไร่ ในเขตจังหวัดนครเขื่อนขันธ์ ตำบลที่ทรงพระราชทานที่ดินนั้น ทรงใช้ชื่อว่า ตำบลบ้านเชียงใหม่ หรือตำบลเชียงใหม่ ดังปรากฎจนถึงปัจจุบันนี้ 
เปลี่ยนชื่อจังหวัดนครเขื่อนขันธ์ - อำเภอพระประแดง  
         ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น ประชาชนมากขึ้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นคือ จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ เปลี่ยนเป็น จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองนครเขื่อนขันธ์ เปลี่ยนเป็น อำเภอพระประแดง ทิศตะวันออก ติดเขตบางนา ทิศใต้ ติดจังหวัดสมุทรปราการ ทิศตะวันตก ติดเขตราษฎบูรณะ ทิศเหนือ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เขตยานนาวา
         ตำบล บ้านเชียงใหม่ หรือตำบลเชียงใหม่ เปลี่ยนเป็น ตำบลตลาด
         ตำบล บ้านเชียงใหม่ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหมูบ้านเชียงใหม่
         เมื่อได้รับพระราชทานที่ดินผืนนี้แล้ว  สมิงอาษาสงครามได้แบ่งเป็นสามส่วน คือ 
         ส่วนที่ 1 สร้างวัด
         ส่วนที่ 2 สร้างที่อยู่อาศัยของท่านและบริวาร
         ส่วนที่ 3 เป็นที่ประกอบอาชีพ มีการทำไร่ ทำนา ทำสวน และทำธุรกิจอื่นๆโดยไม่ต้องเสียภาษี
                     อากรใดๆ ทั้งสิ้น
ลำดับเจ้าอาวาสวัดอาษาสงคราม
         วัดอาษาสงคราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยมีเจ้าอาวาสครองวัดมาแล้วทั้งหมด 8 รูป ดังมีรายนามดังนี้
  1. พระมหาขัน บาลีรามัญ ลาสิกขา
  2. พระอธิการกินรี เป็นหมอยาโบราณ มรณภาพ
  3. พระมหาทอง บาลีรามัญ ลาสิกขา
  4. พระอธิการต้าน เป็นธรรมกถึกภาษารามัญ ลาสิกขา
  5. พระอธิการอัย เกจิอาจารย์ดัง มรณะภาพ
  6. พระครูอาทรธรรมกิจ (พร้อม อุชุโก ป.ธ.4) เป็นผู้ริเริมการเรียนการสอนภาษาบาลี ครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2484 - 2507 มรณะภาพ
  7. พระครูสังฆวุฒาจารย์ (เย่อ โฆสโก) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2508 และได้มรณภาพในปี พ.ศ. 2524 (เจ้าพระคุณสมเด็จอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ทรงมีเมตตาแต่งตั้งให้หลวงปู่เย่อ โฆสโก ดำรงต่ำแหน่งฐานานุกรมของพระองค์ ที่ พระครูสังฆวิจารณ์
  8. พระเทพกิตติเมธี (โนรี ธีโร ป.ธ.5) ครองวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน