วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อาจารย์เย่อ วัดอาษาสงคราม

อาจารย์เย่อ 



ปฐมวัย
      หลวงปู่ มีนามเดิมว่า "ไพทูรย์ (เย่อ)" นามสกุล "กงเพ็ชร์" ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2431 ตรงกับวันแรม 3 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด ที่บ้านทมัง ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัด สมุทรปราการ มีญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกันทั้งสิ้น 4 คน คือ
1. นางหนู
2. นายบ๊ะ
3. หลวงปู่เย่อ (อาจารย์เย่อ)
4. นายเว่
     เนื่องจากบิดามารดาเป็นชาวรามัญที่เคร่งครัดต่อประเพณีนิยมและมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา เมื่ออยู่ในวัยเยาว์ บิดาจึงพาไปทำบุญที่วัดด้วยเสมอ  ทำให้เลื่อมใสต่อบวรพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม  พ.ศ.2444 ท่านมีอายุได้  13 ปี  บิดามารดาจึงได้พาท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรน้อยที่วัดอาษาสงคราม โดยมีท่านมหาขันธ์เป็นอาจารย์ให้ศีลและอนุสัยบวชให้ หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยทั้งไทยและรามัญจนมีความชำนาญ โดยเฉพาะอักขระขอมรามัญ จึงทำให้ท่านสามารถค้นคว้าตำราและพระคัมภีร์ต่างๆของรามัญได้อย่างกว้างขวาง เกิดความรอบรู้ทั้งทางปริยัติธรรมและวิชาแขนงต่างๆ ทางพุทธศาสนาตลอดจนวิชาการแพทย์ตามแบบโบราณสมัยไว้ช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านอีกด้วย
      ครั้งเป็นสามเณรน้อยท่านดำรงตนเคร่งครัดอยู่ในศีล มีจริยาวัดงดงาม ผองใสด้วยธรรมของพระพุทธองค์ จึงเป็นที่ปิติของบิดามารดาและญาติพี่น้อง ตลอดจนครูบาอาจารย์และชาวบ้านที่พบเห็นต่างก็ชื่นชมด้วยทั่วกัน นอกจากนั้นท่านเองก็มึความแจ่มใสอยู่ในเพศบรรพชิต จึงตั้งจิตมั่นคงที่จะรับใช้พุทธศาสนาอยู่จนชีวิตหาไม่
อุปสมบท
       เมื่อท่านย่างเข้าครบ 20 ปี จึงเป็นที่น่ายินดีปรีดาของโยมบิดา มารดาและญาติพี่น้องจะได้ทำการอุปสมบทสามเณรน้อยให้เป็นภิกษุผู้สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป พร้อมใจกันจัดแจงเตรียมพิธีการต่างๆ ให้สมกับศรัทธาที่มุ่งมั้น สมัยนั้นวัดอาษาสงครามยังไม่มีพระอุโบสถและพันธเสมาก็ได้พากันไปใช้พระอุโบสถของ วัดพญาปราบปัจจามิตร ซึ่งอยู่ติดกัน แล้วนิมนต์ให้พระอธิการทองวัดโมกข์เป็นอุปัชฌาย์ พระอธิการเกลี้ยง วัดพญาปราบปัจจามิตรเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมวิสารธะวัดโมกข์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ กำหนดวันอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2451  พระอุปชฌาย์ตั้งฉายาให้ว่า "โฆสโก" แปลได้ว่า "ผู้มีความกึกก้องกังวาน" หมายถึงมีธรรมอันกว้างใหญ่ไพศาลถ้วนทั่วนั้นเอง
        หลังอุปสมบทแล้ว ท่านก็ยิ่งเพิ่มทวีศึกษาทางพระพุทธศาสนาทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระมีความรู้แตกฉานจนจบโดยเฉพาะบาลีแบบรามัญ ท่านมีความสามารถมาก แต่ยังไม่ทันได้สอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีบัญชาให้เลิกการสอบแบบปากเปล่า และทรงยกเลิกการสอบแบบปากเปล่าทั้งทางบาลีไทยด้วย ให้สอบโดยการขีดเขียนแทน แบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้
แสวงหาอาจารย์
        ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า สิ่งที่จะทำให้ล่วงพ้นความทุกข์ไปได้นั้นก็คือ การมุ่งศึกษาทางปฎิบัติธรรมกัมมัฎฐาน ท่านจึงมุ่งกลับไปศึกษาทางวิปัสสนากรรมฐานโดยการค้นคว้าด้วยตนเองจากตำราภาษารามัญจนมีความเข้าใจเป็นอย่างดี  จึงแสวงหาอาจารย์ผู้ทรงคุณในทางปฎิบัติ ท่านจึงเดินทางไปศึกษากับ "หลวงพ่อหลิม" วัดทุ่งบางมด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดทุ่งโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีความสามารถทางวิปัสสนาสูงและเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางพุทธเวทย์วิทยาคม อันมีชื่อเสียงเกรียงไกรในยุคนั้นจนกล่าวเป็นคำพูดว่า " หลวงพ่อหลิม วัดทุ่ง หลวงพ่อรุ่ง วัดท่าควาย" หลวงพ่อรุ่งนั้นหมายถึง หลวงพ่อรุ่งวัดกระบือ เกจิอาจารย์ที่โด่งดังในยุคเดียวกัน
         หลวงพ่อหลิมนั้นท่านสร้างเครื่องรางของขลังแจกจ่ายประชาชนของของท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ใช้ได้ผล ทางเมตตามหานิยมนับว่ายอดเยี่ยมมาก เป็นต้นว่า นางกวัก ของท่านปัจจุบันมีค่าหาได้ยาก
         โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "รัก-ยม" ของหลวงพ่อหลิมนั้น ไม่มีอาจารย์ผู้ใดทำได้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนของท่าน หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาวิปัสสนากับหลวงพ่อหลิมจนหลวงพ่อหลิมออกปากชมว่า หลวงปู่เย่อมีความพากเพียรพยามดีมาก แม้จะมีอุปสรรคกีดขวางอย่างไร ก็พยายามฟันฝ่าเดินทางไปศึกษาโดยมิยอมลดละ ซึ่งในสมัยนั้นถนนหนทางก็มิใช่จะสะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ การเดินทางจากพระประแดงไปวัดทุ่ง บางมดจะต้องใช้เรือแจวไปกว่าจะถึงก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมงทีเดียว
         เมื่อสำเร็จทางวิปัสสนาจนมีความเชี่ยวชาญชำนาญดีแล้ว หลวงพ่อหลิมซึ่งมีความเมตตาหลวงปู่เย่อมาก จึงได้ให้เรียนวิชาทางพุทธเวทย์วิทยาคมต่อ หลวงปู่ก็พยายามศึกษาเวทมนตร์คาถาที่หลวงพ่อหลิมประสิทธิ์ประสาทให้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาจริง เอาจัง จนเกิดความชำนาญสามารถทำเครื่องรางของขลังที่ได้เรียนมาใช้ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ
         หลังจากนั้นท่านก็ยังไม่ได้หยุดที่จะศึกษาหาความรู้ ท่านถือคติที่ว่าการศึกษาไม่มีการจบสิ้น ยิ่งรู้มากก็จะทำให้มีหูตากว้างไกล ชีวิตคือการศึกษาผู้รู้มากย่อมฉลาดมากกว่า เมื่อเรียนวิชาจากหลวงพ่อหลิมจบสิ้นแล้ว ท่านจึงไปขอศึกษาวิชาจากอาจารย์ "กินรี" วัดบ้านเชียงใหม่ และ อาจารย์ "พันธ์" วัดสะกา อาจารย์สองท่านนี้ เป็นเถราจารย์ชาวรามัญที่มีความแก่กล้าทางคาถาอาคมไสยเวทย์มาก สามารถเสกสิ่งของให้มีชีวิตให้เห็นได้กับตาเช่นเดียวกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า วิชาทางไสยเวทย์อาคมนั้นถ้าจะกล่าวแล้วของรามัญมีมาแต่โบราณ มีชื่อเสียงมาก จะเห็นได้ว่าในประวัติศาสตร์ ท่านมหาเถรคันฉ่องอาจารย์ผู้ขมังเวทย์ชาวรามัญ ได้ใช้ความเชี่ยวชาญทางวิปัสสนาญาณและคาถาอาคม แสดงให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและทหารหาญได้ทอดพระเนตรเป็นประจักษ์แก่สายตา เมื่อครั้งการรณยุทธ์ที่แม่น้ำสะโตง ภายหลังท่านมหาเถรคันฉ่องได้รับเกรียรติคุณเป็นถึง "สมเด็จพระพนรัต" วัดป่าแก้ว สังฆราชฝ่ายอรัญวาสี แห่งกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นแบบฉบับแห่งคัมภีร์ทางพุทธเวทย์วิทยาคมสืบต่อมาแต่ครั้งกระโน้น
          อาจารย์พันธุ์ วัดสะกา ท่านมีชื่อเสียงทางสีผึ้งเมตตามหานิยมที่ทำจากน้ำมันช้างพลายตกมัน คือเอาน้ำมันตรงซอกหูช้างที่ไหลขณะตกมัน มาเคี่ยวกับสีผึ้งใต้ร้านบวบด้วยพระเวทย์ สีผึ้งนัน้ใช้ทางเมตตามหานิยมเป็นเยี่ยม
          สำหรับอาจารย์กินรีนั้นท่านชำนาญทั้งทางอยู่คงและเมตตา ทางอยู่คงท่านสร้างผ้าประเจียดสีแดงสวมต้นแขน เล่ากันว่าคงกระพันชาตรีชนิดแมลงวันไม่ได้กลิ่นคาวเลือดทีเดียว นอกจากนั้นท่านยังสร้างพระไว้ด้วยกันสามชนิดคือ แบบสมาธิผงดำพิมพ์ครอบแก้ว ขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย ด้านหลังเรียบ เนื้อพระเป็นผงสีดำละเอียดและดูนุ่มลึก อีกแบบหนึ่งเป็นแบบพิมพ์สามเหลี่ยมมุมมนทั้งสามด้าน องค์พระปางสมาธิ ด้านหลังอูมคลายเบี้ย พุทธลักษณะปางสมาธิ เนื้อผงสีดำอมแดงเล็กน้อย พระเครื่องทั้งสองแบบของท่านนี้ มีพุทธคุณทางคงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยมมาก ส่วนแบบที่สามเป็นพระเครื่องพิมพ์ปิดตา ทรงป้อมด้านหลังอูมคล้ายหลังเบี้ยเนื้อผงสีดำ ขนาดเล็กเท่าปลายนิ้วก้อยมีพุทธคุณหนักแน่นทางเมตตามหานิยมและโชคลาภ ชาวพระประแดงรุ่นเก่าทีมีหวงแหนกันมาก เพราะประสบการณ์เป็นเยี่ยม โดยเฉพาะโดดเด่นทางเมตตาอย่างลึกล้ำ
          หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาสืบต่อวิชาจากท่านอาจารย์ทั้งสองนี้ไว้จนเจนจบสิ้น นับว่าท่านมีความเพียรสูง เพราะการศึกษามิใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องใช้พลังจิตตั้งใจมากจึงจะสำเร็จ จากนั้นมาท่านก็เฝ้าเพียรฝึกฝนวิปัสสนาอยู่เอย่างสม่ำเสมอ ค้นคว้าตำรับตำราของรามัญเก่าๆ ที่มีอย่างเงียบๆ เพียงลำพังมิได้แสดงตนให้ผู้ใดทราบ เพราะหลวงปู่เป็นผู้มีความมักน้อย ถ่อมตนอยู่เป็นนิสัย การเจรจาก็สงบเสงี่ยมอยู่ในศีลแห่งสมณะ สมเป็นพุทธบุตรโดยแท้

ข้อมูลจาก หนังสือ หลวงปู่เย่อ โฆสโก  โดยคุณสมชาย ปรางค์นวรัตน์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น